
ต่างชาติทยอยอพยพออกจากซูดาน หลังเหตุสู้รบยังไม่สงบ
สถานการณ์การสู้รบในซูดาน ยังตึงเครียดหนัก ทำให้หลายประเทศทยอยอพยพพนักการทูตและพลเมืองออกจากกรุงคาร์ทูม ขณะที่ทางการไทยติดตามใกล้ชิดเพื่อเตรียมความพร้อมย้ายคนไทยออกมาเพื่อความปลอดภัย
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยเมื่อวานนี้ (23 เม.ย.) ว่า รัฐบาลติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศซูดานอย่างใกล้ชิด พร้อมดูแลคนไทยและนักศึกษาไทยมุสลิมที่ศึกษาในประเทศซูดาน โดยวันที่ 22 เมษายน พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่งคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือถึงมาตรการการให้ความช่วยเหลือ รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้ความช่วยเหลือคนไทยในประเทศซูดานอย่างเต็มที่
ด้านทางกระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอเส้นทางการอพยพสู่พื้นที่ปลอดภัย ณ สนามบินประเทศเพื่อนบ้านซูดานเช่น ไคโร ซาอุ และฐานทัพสหรัฐที่ Djibouti โดยทาง กระทรวงการต่างประเทศจะหารือเรื่องการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ กับประเทศที่เกี่ยวข้อง ร่วมทั้งพันธมิตรประเทศที่มีความพร้อมในการอพยพด้วย
ขณะเดียวกันหลายประเทศเริ่มทยอยอพยพพลเมืองออกจากเมืองหลวงของซูดานแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรได้อพยพบรรดานักการฑูตออกจากซูดานด้วยเครื่องบินแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ด้านฝรั่งเศส, เยอรมัน, อิตาลี, และสเปน ก็อพยพพลเมืองของตัวเองออกไปแล้วด้วยเช่นกัน
ที่มาของความขัดแย้ง
นับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารในเดือน ต.ค. 2021 ซูดานก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของสภาที่นำโดยเหล่าแม่ทัพนายพล และมีนายพล 2 คนเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งครั้งล่าสุดนี้

คนแรกคือ พลเอก อับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ผู้บัญชาการกองทัพซูดาน ซึ่งกุมตำแหน่งประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
ส่วนอีกคนคือ พลเอก โมฮัมเหม็ด ฮัมดัน ดากาโล หรือที่รู้จักกันในนาม “เฮเมดตี” ซึ่งเป็นรองประธานาธิบดี และผู้บัญชาการกองกำลัง RSF
ทั้งสองมีความคิดเห็นต่างกันในทิศทางการบริหารประเทศรวมทั้งการนำซูดานกลับคืนสู่การปกครองของรัฐบาลพลเรือน
หนึ่งในประเด็นสำคัญของความขัดแย้งครั้งล่าสุดคือ แผนการผนวกกองกำลัง RSF ซึ่งมีกำลังพลราว 100,000 นายให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพซูดาน รวมทั้งใครจะเป็นผู้นำเหล่าทัพใหม่นี้
อ้างอิงจากเว็บไซต์ : BBC
อ่านข่าวต่อ : ข่าว